สุขภาพ

อาการนอนไม่หลับกับศาสตร์แพทย์แผนจีน

ผู้หญิงนอนฝังเข็มที่หลัง

แนะนำผู้เขียน

pasinee

พจ.ภาสินี เชิดชูเหล่า
(พจ.1407)

ปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนจีน เกียรตินิยมอันดับ 2 (พจ.บ)(CM.D) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งแพทย์แผนจีนประจำ J clinic ทำหน้าที่ตรวจประเมิน วินิจฉัย ให้คำแนะนำปรึกษา และให้การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนและบูรณาการ การรักษาร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาแบบองค์รวมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้

ยาวไป อยากเลือกอ่าน

Check List เรามีอาการของโรคนอนไม่หลับหรือเปล่านะ?

นอนไม่หลับคืออะไร เราอยู่ในหมวดนั้น หรือมีอาการอยู่หรือเปล่า เรามาลอง check list กันนะคะว่าเราเข้าข่ายกี่ข้อกัน!

  • หลับยาก ใช้เวลาเข้านอนนานกว่าปกติ คนส่วนใหญ่ปกติเเล้วหลังจากเข้านอนไม่กี่นาทีก็จะหลับเลย หรือเพียงแค่หาอะไรทำเบาๆเช่น อ่านหนังสือไม่กี่หน้าก็ง่วงแล้ว หากคุณไม่เป็นไปตามนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายนอนหลับยาก
  • ตื่นบ่อย ตื่นกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง หรือตื่นแล้วไม่สามารถหลับต่อได้
  • ฝันบ่อย โดยปกติทุกคนเวลานอนหลับก็จะมีฝันบ้าง แต่ถ้าหากฝันบ่อยกว่าปกติ หรือเนื้อหาเวลาฝันออกเป็นเชิงฝันร้าย แสดงว่านอนหลับไม่ลึก คุณภาพการนอนไม่ดี ตื่นมาจะรู้สึกเพลียๆ
  • ช่วงเวลานอนลดลง คือนอนได้น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ถึงแม้จะไม่ตื่นระหว่างคืน หรือไม่ฝันร้ายเลยแต่หากช่วงเวลานอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ก็ถือว่าไม่เพียงพอ ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น
  • ผลกระทบในตอนกลางวัน บางคนคิดว่านอนครบ 8 ชั่วโมงแล้ว คงไม่เข้าข่ายหรอก แต่หากเช้าวันถัดมารู้สึกมึนงง ไม่สดชื่น ง่วงนอน อ่อนเพลีย คิดช้า ตัดสินใจช้าก็เข้าข่ายนะคะ

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับตามหลักแพทย์แผนจีนจะแบ่งออกเป็นปัจจัยต่างๆ ดังนี้ค่ะ

1. ปัจจัยทางร่างกาย

ถ้าเมื่อไหร่ที่เราป่วย เช่น เป็นไข้เป็นหวัดก็จะทำให้เรานอนหลับยาก โดยเฉพาะอาการปวดหัว ปวดคอ ไมเกรน ออฟฟิศซินโดรมจะส่งผลต่อการนอนหลับค่อนข้างมาก เพราะว่าเวลาเรานอนถ้ารู้สึกปวดบริเวณคอจะทำให้รู้สึกนอนหลับไม่สบาย และยิ่งถ้ามีอาการปวดช่วงสะบักและหลังด้วยก็จะยิ่งทำให้หลับยากขึ้น หรือตื่นบ่อยเพราะตะแคงพลิกตัวแล้วรู้สึกเจ็บนั่นเองค่ะ

วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดก็คือการรักษากล้ามเนื้อของตัวเอง ออกกำลัง ยืดเส้นบ้าง ลองทำตามคลิปนี้ดูก็ได้ค่ะ คลิก

2. ปัจจัยทางจิตใจ

ปัจจัยทางด้านจิตใจ ในที่นี้ก็คือการใช้อารมณ์ที่มากเกินไป ทั้งอารมณ์เศร้า ร้องไห้ เสียใจ คิดมากจนนอนไม่หลับ หรือโกรธจนร่างกายรู้สึกร้อนไปหมด หรือแม้กระทั่งดีใจเกินไป หรือตื่นเต้นก็ส่งผลต่อการนอนหลับทั้งนั้นเลยค่ะ ดังนั้นต้องระวังเรื่องอารมณ์ของตนเองกันด้วยนะคะ พยายามควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ อย่าเสียใจมากไป ดีใจมากไป เพราะส่งผลต่อสภาพร่างกายและการนอนหลับเป็นอย่างมากเลยค่ะ

3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

ก็คือสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา เช่น แสงไฟในห้อง เสียงดังจากรถ เสียงเด็กร้องไห้ เสียงกรนของคนข้างๆ ก็อาจจะทำให้เราตื่นได้ง่ายๆ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมภายในห้องนอน รวมถึงหมอนและฟูกเตียงนอนก็สำคัญมากๆ อยากแนะนำให้เลือกที่พอดีกับคอและสรีระ เพราะหากหมอนและที่นอนไม่พอดี นอกจากจะส่งผลเรื่องการนอนหลับแล้ว ยังส่งผลให้สรีระของเราผิดรูปไปด้วย เช่น บางท่านสระรีดีอยู่แล้ว ต้นคอปกติ แต่หากหนุนนอนหมอนสูงเกินไป คอก็จะเปลี่ยนรูปทำให้ปวดคอได้ง่ายขึ้นนะคะ

4. อุปนิสัยต่างๆ

การชอบทานอาหารดึกๆ ทานครั้งละมากๆ การทานบุฟเฟ่ ก่อนเข้านอน ก็จะส่งผลให้นอนไม่หลับ ท้องอืด รวมไปถึงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ การดูหนังสยองขวัญ หรือการเล่นเกมต่างๆ ก็ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับเช่นกัน

การดูแลรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยตนเอง

เชื่อว่าหลายๆ ท่านเมื่อนอนไม่หลับก็จะเลือก “ยานอนหลับ” เป็นทางออก การกินยานอนหลับเป็นประจำ เมื่อนานวันเข้าจะก่อให้เกิดอาการเสพติดยา พอเริ่มหยุดยาก็จะทำให้นอนไม่หลับเหมือนเดิม ต้องกินยาทุกครั้งไป วันนี้เราเลยอยากมาให้ทุกคนเริ่มดูแลตนเองด้วยวิธีการง่ายๆ ทางธรรมชาติ หรือใช้ศาสตร์ทางด้านอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งยากันดีกว่านะคะ จะมีวิธีใดบ้างไปดูกันเลยค่ะ

1. จัดที่นอนให้เหมาะสม

เป็นการเลือกเครื่องนอนให้เหมาะสม ให้พอดีกับสรีระของเรานั่นเอง ควรเลือกหมอนที่มีความลึกพอดีกับต้นคอ และเลือกที่นอนที่มีความนุ่ม/แข็งพอดี ตัวไม่จมลงไป พลิกตัวง่าย แต่ไม่แข็งจนเจ็บหลังนะคะ

2. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

สำหรับท่านที่มีปัญหานอนไม่หลับ หลังเที่ยงเป็นต้นไปถ้าเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงคาเฟอีนนะคะ เพราะสารตัวนี้จะทำให้ร่างกายเราตื่นตัว 

3. หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน

สำหรับใครที่มีนิสัยนอนกลางวันก็ให้งีบสักไม่เกิน 20 นาทีนะคะ หากเกินกว่านี้ก็จะส่งผลต่อการนอนหลับในตอนกลางคืนค่ะ

4. เข้านอน-ตื่นนอนให้เป็นเวลา

พยายามเข้านอน-ตื่นนอน ในช่วงเวลาเดียวกันทุกวันให้เป็นกิจวัตร สิ่งนี้จะช่วยทำให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น

5. หลีกเลี่ยงเรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียด หรือรู้สึกตื่นตัว

ก่อนเข้านอนพยายามเบางานลง อย่าทำงานที่อาจก็ให้เกิดความเครียด หรืองานที่ต้องใช้กำลังทำให้รู้สึกตื่นตัว แต่อาจจะออกกำลังเบาๆเช่นการยืดเส้นนิดหน่อย เพื่อให้รู้สึกสบายตัวและผ่อนคลาย

การออกกำลังก่อนนอนต้องระวังอย่าออกหนักเกินไป เช่น วิ่ง เข้ายิม คาร์ดิโอ การออกกำลังกายแบบนี้จะส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายของเราสูงขึ้น จะทำให้ร่างกายเกิดความร้อน ส่งผลให้นอนไม่หลับนั่นเอง

อาการนอนไม่หลับกับศาสตร์แพทย์แผนจีน

ต้องบอกก่อนว่าแพทย์จีนเป็นศาสตร์ที่มีมานาน เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับพลังธาตุทั้ง 5 หรือที่เรียกว่า “ปัญจธาตุ” ซึ่งธาตุทั้ง 5 จะทำงานอย่างเป็นวัฏจักร แล้วก่อให้เกิดสมดุลที่รู้จักกันในนาม “หยิน-หยาง” นั่นเองค่ะ

ถ้าวันใดวันหนึ่ง ธาตุใดธาตุหนึ่งทำงานมากเกินไป หยิน-หยางของเราก็จะรวน ทำให้นอนไม่หลับนั่นเองค่ะ

การวินิจฉัยวิเคราะห์ตามอาการในทางการแพทย์แผนจีน

ไฟหัวใจและไฟตับมากเกินไป

หลับแล้วตื่นง่าย ฝันมาก+โกรธง่าย วิงเวียนศีรษะ ปากขม

ลิ้น: ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง
ชีพจร: ชีพจรตึง – เร็ว

เสมหะร้อน รบกวนภายใน

นอนไม่หลับ รำคาญ+หนักศีรษะ จุกลิ้นปี่ คลื่นไส้ เรอบ่อย

ลิ้น: ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว
ชีพจร: ชีพจรลื่น เร็ว

ซี่หัวใจและถุงน้ำดีบกพร่อง

นอนไม่หลับ+ฝันมาก ตกใจตื่นง่าย รู้สึกเหมือนตกบันได หรือใครที่นั่งเฉยๆแล้วเพื่อนสะกิดก็ตกใจจนสะดุ้ง

ลิ้น: ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง
ชีพจร: ชีพจรตึง – เร็วละเอียด

หัวใจและไตไม่ประสาน

ใจสั่น นอนไม่หลับ+หูอื้อ เมื่อยเอว เข่าอ่อน ขี้ลืม หน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน มีเหงื่อขณะนอนหลับมากทั้งๆที่ไม่ได้รู้สึกร้อน ปากคอแห้ง

ลิ้น: ลิ้นแดงฝ้าน้อย
ชีพจร: ชีพจรละเอียดเร็ว

หัวใจและม้ามพร่อง

เข้านอนลำบากคือรู้สึกเพลีย เหนื่อยมาก แต่นอนไม่หลับ ตื่นง่าย+อ่อนเพลีย ทานน้อย เวียนศีรษะ แขนขาไม่มีแรง ท้องอืด ถ่ายเหลว สีหน้าซีด

ลิ้น: ลิ้นซีด ฝ้าบาง
ชีพจร: ชีพจรเล็ก (ซี่) ไม่มีแรง

วิธีการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

1. การฝังเข็ม

เป็นการแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกายโดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยเข็มที่ใช้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงอาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ J-Clinic เทคนิคพิเศษ สำหรับผู้ที่กลัวเจ็บหรือผู้ที่มีผิวบอบบางโดยเฉพาะด้วย ซึ่งจะเจ็บน้อยกว่า ทำให้รู้สึกสบายและรีแลกซ์ และเข็มเป็นแบบปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงปลอดภัยจากการติดเชื้อค่ะ

2. การครอบแก้ว

เป็นการปรับสมดุล เน้นไปที่การคลายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น หลังรู้สึกตึง แข็งมาก การครอบแก้วก็จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ดีนะคะ

3. ยาจีน

แพทย์จะจัดให้ตามอาการคนไข้ รวมไปถึงการจัดยาเพื่อดูแลสุขภาพโดยรวมของคนไข้ ดังนั้นแต่ละคนก็จะมียาที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ปริมาณยาก็ยังปรับตามอาการด้วย เช่นช่วงแรกที่นอนไม่หลับรุนแรง ยาก็จะเยอะหน่อย พออาการดีขึ้นแล้วก็จะปรับลดยาตามความหนักของอาการที่เป็น หลังจากหายแล้วก็จะหยุดยาและปรับอาหารที่รับประทานประจำวันให้เหมาะสมแทน

3. รมยา

เป็นการใช้สมุนไพรในการรักษา เช่น การใช้ โกฐจุฬาลัมพา ที่มีคุณสมบัติให้ความอบอุ่นกับร่างกาย รมควบคู่กับการฝังเข็มจะให้ผลลัพธ์ดีขึ้น

4. การฝังเข็มหู

เป็นศาสตร์ที่มีมา 5,000 ปีแล้ว โดยมีทฤษฎีว่า หูของเราเชื่อมต่อกับเส้นลมปราณ สามารถใช้ได้ทั้งการฝังเข็ม หรือแปะเม็ดผักกาดแล้วกด วันละ 10 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ก็ได้ค่ะ เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้านด้วยค่ะ

วิดิโอบรรยาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *